คอลัมน์เบื้องหลังแสตมป์ไทย โดยแว่นขยาย
เรื่อง หมายเหตุแสตมป์ไทย หน้า 25 ได้ลงเรื่องราวของตราไปรษณียากรชุดใหม่
ซึ่งจะมีกำหนด ออกจำหน่ายในวันศุกร์ ที่ 13 มิถุนายน 2551
ในชื่อชุด อเมซิ่งไทยแลนด์ (กล้วยไม้)
โดยมีทั้งกล้วยไม้พันธ์แท้ (กล้วยไม้ป่า) และกล้วยไม้ลูกผสม ปะปนกัน โดยไม่มีการแยกประเภท ในจุลสารข่าวแสตมป์ไทยฉบับที่ 2/2551 หน้า 17 พูดถึงว่ากล้วยไม้ป่ามีประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง และกล้วยไม้ไทยมีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ที่น่าเจ็บใจ คือมีอยู่ดวงหนึ่งซึ่ง เป็นแบบที่ 5 กล้วยไม้สกุลหวาย ( Dendrobium sutikunoi) ซี่งเป็นกล้วยไม้ป่าของประเทศอินโดนีเซีย
มันน่าอับอายอยู่เหมือนกันที่ไปตู่เอาของเขา มันน่าภูมิใจตรงไหน ทั้งที่กล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ของไทยนั้น ที่มีการสำรวจพบนั้นมีเกือบ 1,200 ชนิด และกล้วยไม้ เกือบ 1,200 ชนิดนั้น กว่าครึ่งเป็นไม้เฉพาะถิ่น ที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งมันก็น่าจะมากเกินพอที่จะคัดเลือกนำภาพมาพิมพ์เป็นแสตมป์ อย่างที่เรียกว่าหากพิมพ์ทุกชนิด 5 ปีก็ยังพิมพ์ไม่ครบเลย นี่ยังไม่นับกล้วยไม้ลูกผสมที่บรรดานักเล่นกล้วยไม้ ผสมขึ้นสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อีกนับไม่ถ้วน
ไม่ใช่วาระในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอินโดนีเซีย
ที่เราพิมพ์ภาพของเขา เขาภาพพิมพ์ของเรา นี่มันชื่อชุดอเมซิ่งไทยแลนด์ (กล้วยไม้) น่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสวยงามของกล้วยไม้ไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเมืองไทยมากกว่า
ไปรษณีย์ไทยปัจจุบัน ดำเนินงานในรูปแบบบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นแต่ผลกำไร โดยไม่ค่อยคิดคำนึงถึง เอกลักษณ์และสิ่งที่เป็นของไทยๆ สิ่งดี ของดีในเมืองไทย มีอยู่มากมายที่เหมาะสม และสมควรจะนำออกอวดสู่สายตาชาวโลก ในรูปแสตมป์ที่มันทำหน้าที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ทะเล ต้นไม้ วัด วัง ฯลฯ ซึ่งมันน่าจะภูมิใจมากกว่า การไปเอากล้วยไม้จากอินโดนีเซียมาเป็นแบบจำหน่าย มันน่าละอาย แสดงถึงความไม่รู้ ไม่รอบคอบ ไม่ใส่ใจของผู้เกี่ยวข้องของงานชิ้นนี้
ฤา 125 ปี ของไปรษณีย์ไทย ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานให้ปวงชนชาวไทย จะถึงเวลาที่ไปรษณีย์ไทย ต้องไปเอาสิ่งของของประเทศอิ่น มาพิมพ์บนแสตมป์ที่มีคำว่าประเทศไทย Thailand เหมือนดั่งอดีต ประเทศโลกที่สาม ทั้งหลาย ที่ประเทศของตนเองไม่มีทรัพยากรและไม่มี จุดขาย ต้องนำเอาภาพ หรือสิ่งขึ้นชื่อของประเทศอื่นมาจัดพิมพ์เป็นแสตมป์ เป็นสินค้าออก ดั่งเช่นเกาหลีเหนือ ฮังการีและเหล่าประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย
ประเทศไทยยังไม่ขาดแคลน สิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม แต่ที่ขาดแคลนก็คือบุคคลากร ที่มีความสามารถ นำแง่มุม ที่แสดงความเป็นไทย มานำเสนอมากกว่า